วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การตรวจทางหัวใจ

การตรวจพื้นฐาน


การตรวจร่างกาย
เพื่อดูน้ำหนัก ส่วนสูง อ้วนหรือไม่ การจับชีพจร ความสม่ำเสมอ และอัตราของการเต้นของหัวใจ ความดัน โลหิต
ฟังเสียงหัวใจว่ามีเสียงผิดปกไหม เช่น เสียงสาม เสียงสี่ หรือ เสียงฟู่ นอกจากนั้นแล้วแพทย์จะตรวจร่างกายทุกระบบด้วย เพื่อดูว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ และ ดูโรคอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วย

12 lead ECG

คลื่นไฟฟ้าหัวใจ
คลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะบอกจังหวะการเต้นของหัวใจ บอกขนาดห้องหัวใจ (แต่ไม่ดีนัก)
บอกโรคของเยื่อหุ้มหัวใจบางชนิด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย
หลายคนคิดว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการ "เช็ค" หัวใจคล้ายเช็คเครื่อง
แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้น คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะผิดปกติก็ต่อเมื่อมีโรคหัวใจที่รุนแรง เช่น หัวใจขาดเลือดรุนแรง
กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้น ผิดจังหวะ เป็นต้น แต่ต้องเข้าใจว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ปกติ ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้เป็นโรคหัวใจ

เอกซเรย์ทรวงอก
หรือเรียกง่ายๆว่าเอกซเรย์ปอด ซึ่งจะเห็นทั้งปอด หลอดเลือดแดงใหญ่ การกระจายของเลือดในปอด ภาวะน้ำท่วมปอด หรือหัวใจล้มเหลว เงาของหัวใจซึ่งบอกขนาดหัวใจได้ดีพอควร

ตรวจเลือด
การตรวจหาระดับสารต่างๆในเลือด ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรง แต่เป็นการดูเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ
เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค และ การใช้ยาต่างๆ (เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนจากยา)

การตรวจพิเศษ - Non-Invasive Diagnostic


Echo
Echo (Echocardiogram) หรือ อัลตราซาวน์หัวใจ
ด้วยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจโดยหัวตรวจชนิดพิเศษ
เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูง ผ่านอวัยวะต่างๆจะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ซึ่งแตกต่างกันระหว่างน้ำ เนื่อเยื่อ
คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณเหล่านี้มาสร้างภาพ ดังนั้น ภาพที่เห็นก็คือหัวใจของผู้ป่วย
Echo จึงช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรค ตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษา
ในโรคหัวใจและ หลอดเลือดได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ
โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่เห็นหลอดเลือดหัวใจโดยตรง
และ อาจได้ภาพไม่ชัดเจนในผู้ป่วยที่อ้วนหรือผอมมาก หรือ มีถุงลมโป่งพอง เนื่องจากไขมันและอากาศขัดขวางคลื่นเสียงความถี่สูง

Exercise Stress Test การเดินสายพาน
หลักการ คือ ให้ผู้ป่วย(หรือผู้ที่ต้องการตรวจ) ออกกำลังกายโดยการเดินบนสายพานที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ (บางแห่งอาจให้ปั่นจักรยานแทน) เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นด้วย หากมีหลอดเลือดหัวใจตีบ เลือดจะไม่สามารถเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ จะเกิดอาการแน่นหน้าอก และมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เห็น การทดสอบนี้ยังช่วย บอกแพทย์ด้วยว่าผู้ป่วยเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติหรือไม่ และใช้ในการติดตามผู้ป่วยภายหลังได้รับการรักษา ไม่ว่าจะด้วยยาหรือ การขยายหลอดเลือด หรือ การผ่าตัด โดยการให้ผู้รับการทดสอบ เดินบนสายพานต่อขั้วและสายนำไฟฟ้าบริเวณหน้าอก 10 สาย เข้ากับเครื่อง Computer ในขณะที่เดินอยู่ เครื่อง Computer จะบันทึกและแสดงลักษณะของคลื่นนำไฟฟ้าภายในหัวใจ พร้อมทั้งความดันโลหิตตลอดเวลา ในขณะทดสอบ จะมีการเพิ่มความเร็ว และ ความชันของเครื่อง เป็นระยะๆตามโปรแกรม ที่จะเลือกให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ทดสอบโดยเฉพาะ เป็นรายๆไป เมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบ ผู้ทดสอบสามารถทราบผลการทดสอบจากแพทย์ ซึ่งจะเฝ้าสังเกตอาการอยู่ด้วยตลอดการทดสอบได้ทันที

Tilt Table Test
Tilt Table Test
เป็นการตรวจพิเศษที่ใช้ทดสอบในกลุ่มผู้ป่วย ที่มีอาการเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อหาทางแก้ไขหรือรักษาให้ถูกต้องต่อไป เนื่องจากอาการเป็นลมหมดสติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจจะมาจากปัญหาทางด้านสมอง หรือ หัวใจก็ได้ โดยคำจำกัดความของ " อาการเป็นลม , หมดสติ " คือการไม่รู้สติสัมปชัญญะอย่างเฉียบพลัน ( โดยทั่วไปมักน้อยกว่า 1 นาที )อันเป็นผลมาจากสมองเกิดภาวะขาดออกซิเจนโดยไม่มีความผิดปกติทาง ระบประสาทเฉพาะที่ เช่น โรคลมชัก เป็นต้น แม้ว่าภาวะการเป็นลม จะไม่ค่อยก่อให้เกิดอันตราย ถึงแก่ชีวิตแต่การเกิดซ้ำๆ ก็ก่อให้เกิดความกังวลใจและอาจทำให้เกิดบาดแผลต่อร่างกาย หรือเกิดอาการผิดปกติทางสมองได้
การทดสอบชนิดนี้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมบ่อยๆ หรือเป็นลมง่าย เช่น เห็นเลือดแล้วเป็นลม เปลี่ยนท่าแล้วเป็นลม หรือเสียใจ ดีใจมาก ก็เป็นลม การทดสอบชนิดนี้ทำได้ง่าย ไม่ต้องนอนพักต่อในโรงพยาบาล
การทดสอบจะกระทำในห้องที่มีเตียงพิเศษ สามารถปรับระดับองศาของเตียงได้
ผลการทดสอบ แพทย์จะวิเคราะห์จาก อัตราชีพจร ความดันโลหิต ลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ อาการของผู้ป่วยขณะที่ถูกเปลี่ยนระดับเตียง จากนอนราบเป็นประมาณ 70-80 องศา เป็นเวลาประมาณ 15-20 นาทีบางครั้งอาจ จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย

การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24-48 ช.ม.(Holter monitoring)
Holter
เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม. ไว้กับตัว โดยที่สามารถกลับไปพักที่บ้านหรือทำงานได้ตามปกติ
โดยไม่ต้องเสียเวลานอนพักค้างที่โรงพยาบาล และเมื่อครบกำหนด 24 หรือ 48 ชม.แล้ว จึงกลับมาถอดเครื่อง
และรอรับทราบผลการตรวจวิเคราะห์จากแพทย์ได้
การตรวจวิธีนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะมีปัญหาใจสั่นผิดปกติเป็นครั้งคราว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลมอยู่เสมอ
เวียนศีรษะ ใจเต้นแรงผิดปกติเป็นประจำ แต่บางครั้งขณะ มาพบแพทย์อาการดังกล่าวก็ไม่ปรากฎ
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ณ เวลาที่ไม่มีอาการ ( ECG ) ก็ปกติ ทำให้ไม่ทราบว่าอาการใจสั่นเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่

ข้อห้ามบางประการขณะติดเครื่องบันทึก
  • ห้ามอาบน้ำ ว่ายน้ำ หรือทำให้เครื่องและบริเวณที่ติดสายและขั้วต่อเปียก
  • ห้ามทำเครื่องตก ( เครื่องจะใส่กระเปําและเข็มขัดไว้ให้ท่านอย่างเรียบร้อย )
  • ห้ามออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวของแขนมาก


การตรวจพิเศษ - Invasive Diagnostic



การฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ(Coronary Angiography :CAG)
การตรวจสวนหัวใจหรือการฉีดสี หมายถึงการใช้สายสวนขนาดเล็ก ( โดยทั่วไป เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มม. )
ใส่เข้าไปตาม หลอดเลือดแดง อาจจะใส่จากบริเวณขาหนีบ ( ซึ่งนิยมมากที่สุด ) ข้อพับแขนหรือข้อมือ
ไปจนถึงจุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือด ที่ไปเลี้ยงหัวใจ ( หรือที่รู้จักกันว่าหลอด เลือดโคโรนารี่ ) ทั้งซ้ายและขวา
ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวมักจะอยู่ก่อนถึงหัวใจเล็กน้อย
จากนั้น แพทย์จะใช้สารละลายทึบรังสีเอ็กซเรย์ ( หรือ "สี" ) ฉีดเข้าทางสายสวนไปที่หลอดเลือดโคโรนารี่
เพื่อตรวจสอบดูว่า มีการตีบแคบ หรือตันของหลอดเลือดอันสำคัญนั้นหรือไม่ ถ้ามีการตีบแคบหรือตันการฉีดสี
ก็จะสามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจนอีก ว่าเป็นบริเวณใดของหลอดเลือด เป็นมากหรือน้อยประการใด
ทั้งนี้นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ อย่างแม่นยำ แล้ว ยังช่วย ในการตัดสินใจของผู้ป่วย
ญาติ และแพทย์ อีกด้วย ว่าควรจะแก้ไขหรือรักษาด้วยวิธีใด ให้เหมาะสม และเกิดประสิทธิผลแก่ผู้ป่วยอย่างสูงสุด
ปัจจุบันการตรวจสวนหัวใจทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ใช้เวลาพักอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 1 วัน
และขณะทำก็ไม่มี การใช้ยาสลบ แต่อย่างใดจะใช้ยาชา เฉพาะที่เท่านั้น
ขณะตรวจ ผู้ป่วยจะสามารถมองผ่านทางจอภาพได้ตลอดเวลา และเมื่อการตรวจเสร็จ เรียบร้อย ก็จะทราบผลการตรวจได้ทันที

ผลแทรกซ้อน จากการตรวจ
มีผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการสวนหัวใจ และฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจอยู่บ้าง ผลที่ไม่รุนแรง (น้อยกว่า 5%)
เช่น ผลต่อหลอดเลือดที่ขา(ตำแหน่งที่แทงเข็ม) เลือดออก แพ้"สี"แบบไม่รุนแรง เป็นต้น
หรือ ผลแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น อัมพาต แพ้"สี"รุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง เสียชีวิต
อย่างไรก็ตามผลแทรกซ้อนที่รุนแรงเหล่านี้พบน้อยมาก น้อยกว่า 1% ทำให้เมื่อชั่งน้ำหนัก
ระหว่างข้อดี กับ ข้อเสียแล้ว ผู้ป่วยจำนวนมากจะได้ประโยชน์จากการสวนหัวใจและฉีดสีดูหลอดเลือด

การตรวจระบบไฟฟ้าในหัวใจ (Electrophysiocardiography Study : EPS)
หัวใจประกอบไปด้วยส่วนสำคัญหลายส่วน เช่น หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เป็นต้น
แต่การที่หัวใจจะบีบตัว ได้ตามปกตินั้น จำเป็นต้องมีระบบการนำไฟฟ้าหัวใจที่ปกติด้วย
การที่หัวใจเต้นผิดปกติ เร็วหรือช้ากว่าปกติ ใจสั่น เต้นผิดจังหวะ ไม่สม่ำเสมอ หรือ หยุดเต้น
ล้วนแต่ เกิดจากความผิดปกติในการนำไฟฟ้าหัวใจทั้งสิ้น
บางครั้งการตรวจร่างกายตามปกติ รวมทั้ง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง
ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากพอ แพทย์โรคหัวใจ จะแนะนำให้ตรวจวิเคราะห์ระบบไฟฟ้าหัวใจโดยละเอียด

วิธีการตรวจ
แพทย์จะใส่สายสวนหัวใจขนาดเล็ก เข้าไปยังตำแหน่งต่างๆภายในหัวใจ ผ่านทางหลอดเลือดดำ
ซึ่งอยูที่ขาหนีบหรือที่ใต้ไหปลาร้า โดยอาจใช้สายสวนหลายสาย ร่วมกัน และใช้เครื่องเอกซ์เรย์
ในการเลือกตำแหน่งที่ถูกต้อง ที่ปลายของแต่ละสายจะมีความสามารถในการบันทึกไฟฟ้าที่เกิดขึ้นภายในหัวใจ
ทำให้ทราบ ว่ามีไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้นในหัวใจหรือไม่
และยังสามารถปล่อย กระแสไฟฟ้าจำนวนน้อยๆ ไปกระตุ้นให้เกิดการเต้นผิดจังหวะที่เป็นอยู่มาปรากฏต่อแพทย์ได้
หากพบว่ามีวงจรที่ผิดปกติ หรือ มีทางลัดเกิดขึ้นในหัวใจ แพทย์อาจใช้คลื่นวิทยุจี้ ทำลายวงจรที่ผิดปกติ
โดยผ่านทางสายดังกล่าวได้ ซึ่งนับเป็นการตรวจ วิเคราะห์และการรักษาการเต้นผิดจังหวะที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน

2 ความคิดเห็น:

ช่วยอ่านผลที่นะคะ
fair to poor (ef41%)
lv mark dilatation
global hypokinesia
three cusp of av appear normal
no as no ar
normal appearance of tv pv mv mild mr
no colt was seen

อ่านตามที่เขียนมานะคะ
ค่าการบีบตัวของหัวใจ 41 เปอร์เซนต์
หัวใจห้องล่างซ้ายขยายออก
ลิ้นหัวใจเอออร์ติก ปกติ ไม่มีการรั่ว ไม่มีการตีบ
ลิ้นหัวใจ ไตรคัลปิค พัลโมนารี ไมทรัล ปกติ มีลิ้นหีวใจไมทรัลรั่วเล็กน้อย
ไม่มีก้อนเลือดให้เห็น

น่าจะคุยกะคุณหมอที่ตรวจให้นะคะ เพราะคนที่ทำเขาจะบอกรายละเอียดได้มากกว่าคะ
เพื่อความรวดเร็วในการตอบคำถาม แนะนำให้ติดต่อผ่าน http://www.facebook.com/PSUHeartCenter นะคะ

แสดงความคิดเห็น