วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ภาพล่าสุด อาคารศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์





คืบหน้าไปมากแล้ว สำหรับอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินครบวงจร โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่เป็นโครงการของ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุและผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามที่ทราบข้อมูลจากแผนการก่อสร้าง บอกไว้ว่าเป็นอาคาร 12 ชั้น และลานจอดรถใต้ดิน 3 ชั้น ดาดฟ้ามีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ แต่ลองหาข้อมูลจากในเน็ทแล้ว บางเว็บบอกว่า 14 ชั้น เดี๋ยวคงขอไปนับดูใหม่แล้วจะมาอัพเดทกันอีกทีครับ
หลายๆ ท่านก็คงขับรถผ่าน ได้เห็นความคืบหน้ากันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เพิ่งเห็นตัวอักษรหน้าตึก ก็เลยอดจะมาเขียนถึงไม่ได้ เพราะปกติเขียนด้วยความคุ้นเคยมาตลอด สงขลา->Songkhla นครินทร์ ก็เขียนเองเป็น nakarin รวมเป็น Songkhlanakarin พอมาเจอ Songklanagarind ตามภาพเข้าไปก็เลยเหวอไปเล็กน้อย เขียนผิดมาตลอดเลยแฮะเรา

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

บุหรี่กับโรคหัวใจ

บุหรี่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจแน่หรือ ?



  จากรายงานการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่าในกลุ่มผู้สูบบุหรี่จะมีโอกาสหรือความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 2.4 เท่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูบบุหรี่ทีเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือมีไขมันในเลือดสูง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดถึง 1.5 เท่า แต่หากผู้สูบบุหรี่นั้นเป็นทั้งความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูงจะเสี่ยงต่อการเป็นเป็นโรคหัวใจถึง 8 เท่าของคนทั่วไป โดยเฉลี่ยแล้วผู้ติดบุหรี่จะมีเส้นเลือดเสื่อมและเกิดการตีบตันเร็วมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 10-15 ปี องค์กรอนามัยโลกได้ระบุว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 ของผู้เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นผลจากการสูบบุหรี่

  ในสตรีสูบบุหรี่ที่ได้รับยาคุมกำเนิด จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าสตรีทั่วไปถึงเกือบ 40 เท่า และยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบและโรคระบบหลอดเลือดสูงกว่าสตรีทั่วไปด้วย นอกจากนี้ มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มตามจำนวนบุหรี่ที่สูบ และในกลุ่มผู้ที่เกิดภาวะหัวใจวายจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนั้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) จะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และอีกร้อยละ 25 จะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล นั่นคือ หากเกิดภาวะหัวใจวายจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันขึ้นแล้ว โอกาสจะมีชีวิตรอดจะน้อยลง และมีปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตต่อไปด้วย

ผลจากการสูบบุหรี่ต่อการทำงานของหัวใจ

  • นิโคติน เมื่อดูดซึมเข้ากระแสเลือด มีผลโดยตรงต่อต่อมหมวกไตก่อให้เกิดการหลั่งสาร อิพิเนฟริน (Epinephrine) และทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วขึ้น หลอดเลือดแดงหดตีบตัน เพิ่มไขมันในเลือด ผลของนิโคตินทำให้เกิดการทำลายของเยื่อบุชั้นในของหลอดเลือดแดงซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • คาร์บอนมอนอกไซน์ การหายใจเอาคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปเป็นจำนวนมาก จะทำลายคุณสมบัติในการเป็นพาหนะนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย เป็นผลทำให้หัวใจต้องเต้นเร็วขึ้น ทำงานมากขึ้น เพื่อสูบฉีดโลหิตนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ
  • ไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นก๊าซพิษในควันบุหรี่ ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง ประกอบกับสารพิษอื่นๆ ได้แก่ นิโคตินเป็นพิษต่อเซลล์เยื่อบุชั้นในของหลอดเลือด เมื่อกลไกนี้เกิดซ้ำอีก ร่วมกับการขาดออกซิเจนจากการไดรับก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ยิ่งจะทำลายเซลล์ชั้นในของหลอดเลือดได้มากขึ้นทำให้ไขมันที่มีอยู่ในเลือดไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้ง่าย นอกจากนี้ควันบุหรี่ยังทำให้เกร็ดเลือดเกาะกันมากขึ้น เกร็ดเลือดอายุสั้นลง เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น เลือดข้นขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้เลือดจับกันเป็นก้อนได้ง่าย เป็นสาเหตุทำให้เส้นเลือดแดงที่มีไขมันเกาะอยู่ชั้นในของหลอดเลือด หรือหลอดเลือดแดงที่ตีบอยู่แล้ว เกิดการอุดตันไดในทันทีทันใด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจเสียชีวิตทันทีทันใดได้

การสูบบุหรี่กับโรคหัวใจ และหลอดเลือด

  ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนที่สูบบุหรี่ตายจากโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบเกือบ 3 เท่า และการสูบบุหรี่นั้น มีความสัมพันธ์กับจำนวนที่สูบ ยิ่งสูบมากเกินวันละ 1 ซอง ก็ยิ่งทำให้อัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้น ในประเทศเรา ได้มีการศึกษาประชากรที่เกิดโรคหัวใจขาดเลือดพบปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค เรียงตามลำดับคือ
  1. การสูบบุหรี่มากกว่า 10 มวนขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูบเกิน 20 มวนต่อวันขึ้นไป จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงมากยิ่งขึ้น
  2. เบาหวาน
  3. ความดันโลหิตสูง
  4. ความอ้วน
  5. ไขมันในเลือด
  6. ความเครียด
  7. การไม่ออกกำลังกาย
  สรุปข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ถ้าสูบบุหรี่ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น เป็นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวานด้วยแล้วยิ่งทำให้อัตราการเกิดโรคนั้นสูงขึ้นมากขึ้นตามลำดับ การหยุดสูบบุหรี่ ทำให้ลดการตายจากหัวใจขาดเลือดในผู้ที่สูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวนต่อวัน ถ้าหยุดสูบได้พบว่า 10 ปี หลังจากหยุดสูบบุหรี่ จะมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจใกล้เคียงกับคนที่ไม่สูบ ในผู้ป่วยที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายจากโรคหัวใจขาดเลือด แล้วหยุดสูบพบว่า จะลดการตายจากการเกิดเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำ หรือลดการตายทันทีนั้นลงไปร้อยละ 20 ถึง 50

  การหยุดสูบบุหรี่จึงเป็นการรักษาที่จำเป็นในโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคปอดเรื้อรัง และโรคถุงลมโป่งพอง ตลอดจนโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ท่านทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันนี้โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของประเทศรองจากอุบัติเหตุ ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่สังคมจะต้องหันมาสนใจ และใช้ความพยายามร่วมกันเพื่อรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ทั้งภาครัฐ และเอกชนอย่างจริงจัง

ที่มา: สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปรับโฉมหน้าเว็บใหม่


  ถ้ามีคนได้เข้ามาหน้าเว็บในช่วง 20.00-22.00 โดยประมาณ ของวันนี้ (5 กค.) อาจจะเจอหน้าตาเว็บประหลาดๆ ไปบ้าง ก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ มีการปรับหน้าตาของเว็บใหม่ เนื่องจากช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ต้องขอยอมรับว่าห่างเหินจาก Blog ไปมาก หันไปเน้นทางด้าน Facebook ซะเยอะ

  ต้องขอเกริ่นให้ทราบกันเป็นความรู้นิดนึงว่า ตัว Blog นี้ ใช้ Template หรือรูปร่างหน้าตาฟรี จากคนอื่นที่เค้าเตรียมไว้ให้ แล้วมาปรับปรุงต่อ แต่เดิมก็มีรูปประกอบ มีหัวเมนูด้านบนสวยงาม สีสันครบถ้วน แต่พอได้มาเช็คดูเมื่อสัปดาห์ก่อน พบว่าหน้าตาเปลี่ยนไปมาก เพราะรูปหาย สีหาย เกิดจากการที่ภาพต้นฉบับโดนลบไป



ลองกดดูครับ หน้าตาแบบเก่า


  พยายามหาทางแก้อยู่นาน แต่ก็ไม่สามารถหาหน้าตาแบบเดิมพบ ก็เลยต้องหาหน้าตาใหม่มาปรับโฉมกันซักนิด ก็ลองผิดลองถูก แก้ไปแก้มาอยู่พักใหญ่เหมือนกัน จนมาจบที่หน้าตาแบบที่ทุกคนได้เห็นกันอยู่ตอนนี้ โดยรอบนี้อาจจะไม่ได้สวยงาม หวานแหววเหมือนครั้งก่อน เน้นเรียบง่ายมากขึ้นครับ

  หลังจากเคลียร์เรื่องหน้าตาเสร็จแล้ว อีกไม่นาน เดี๋ยวเราจะกลับมา update บทความความรู้กันอีกเช่นเคยครับ

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

การปฏิบัติตัวหลังได้รับการสวนหัวใจ (Post Catheterization Care)

  สำหรับผู้ป่วยที่ทำหัตถการที่ขา หลังทำหัตถการจะมีท่อนำ (Sheath) คาไว้ที่หลอดเลือดขาหนีบ
femoral sheath

  1. ผู้ที่ทำหัตถการฉีดสีเส้นเลือดหัวใจอย่างเดียว แพทย์/พยาบาลจะดึงท่อนำ (Sheath) บริเวณขาหนีบออก และกดแผลเพื่อห้ามเลือดนานประมาณ 30 นาที (สำหรับผู้ที่ทำหัตถการฉีดสีและใส่ขดลวดเส้นเลือดหัวใจ ต้องรออีก 4 ชม.แพทย์จึงดึงท่อนำ (Sheath) ออก เพราะต้องรอให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหมดฤทธิ์)
  2. ห้ามลุกนั่ง ห้ามงอขาหนีบข้างที่ทำ นานอย่างน้อย 6 ชม. หลังเอาท่อนำออก สามารถพลิกตะแคงตัว ขยับข้อเท้าและเกร็งกล้ามเนื้อขาได้ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังส่วนปลายเท้าได้
  3. สองชั่วโมงแรกให้นอนราบ (ห้ามยกศรีษะเพื่อดูแผล) 2 ชั่วโมงต่อมานอนศรีษะสูง 30 องศา 2 ชั่วโมงต่อมาไขหัวเตียงสูง 45 องศา ครบ 6 ชั่วโมงสามารถลุกนั่งได้ ควรเดินระยะสั้นๆ เช่นเดินรอบเตียง เดินเข้า-ออกห้องน้ำ
  4. หากคลำบริเวณท้องน้อยแข็ง (ต้องไม่ปวดปัสสาวะ) ปวดมึนศรีษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม (นอนพักไม่ดีขึ้น) ปัสสาวะไม่ออก ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงให้แจ้งแพทย์/พยาบาลทันที
  5. หากขยับตัว, ไอจาม ให้ใช้มือกดบริเวณแผล
  6. หลังทำ10 วันห้ามวิ่งจ๊อกกิ้ง ห้ามสตาร์ทรถจักรยานยนต์ ห้ามยกของหนัก


คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ทำหัตถการที่ข้อมือ

radial TR band

  1. หลังทำหัตถการสวนหัวใจเสร็จ แพทย์/พยาบาลจะดึงท่อนำ (Sheath) บริเวณข้อมือออก และใช้อุปกรณ์ (TR Band) รัดเหนือแผลนานประมาณ 4 ชั่วโมง ห้ามงอข้อมือข้างที่ทำ สามารถขยับปลายนิ้วมือเกร็งแขน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังส่วนปลายมือได้ หากมีอาการชา เจ็บที่ปลายนิ้วมือแจ้งแพทย์/พยาบาลได้ทันที
  2. ห้ามงอข้อมือข้างที่ทำนาน 6 ชม. (นับเวลาเริ่มต้นที่เอาอุปกรณ์รัดเหนือแผลออก) ท่านสามารถลุกนั่งได้ (อาจใช้ผ้าคล้องคอพยุงแขนไว้)

ข้อควรปฏิบัติอื่น ๆ
  1. สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ และพยายามดื่มน้ำมาก ๆ (ถ้าแพทย์ไม่สั่งห้าม)
  2. หากมีอาการปวดแผลสามารถขอยาลดปวดได้
  3. ห้ามบริเวณแผลโดนน้ำ 3 วัน
  4. หากมีเลือด/ของเหลวออกบริเวณแผล/แผลบวม แดง ร้อน/ปวดแผลมาก ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง แขนขาชาอ่อนแรง ให้แจ้งแพทย์/พยาบาลทันที
  5. หลังทำ 15 วันสามารถปฏิบัติตัวได้ตามปกติ

สำหรับผู้ที่ทำหัตถการฉีดสีและใส่ขดลวดเส้นเลือดหัวใจ
  เพื่อป้องกัน/ลดการอุดตันจากลิ่มเลือดในขดลวด จำเป็นต้องกินยา Plavix /Clopidogel/ Apolets วันละ 1 เม็ดตามคำสั่งแพทย์ ข้อควรระวัง คือ อาจเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร หากพบว่ามีการถ่ายอุจจาระสีดำ (โดยไม่ได้ยาชนิดเสริมแร่เหล็ก) ให้มาพบแพทย์ก่อนวันนัด ห้ามหยุดยาเอง

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

Coronary Heart Decease : Nursing Care

ศูนย์โรคหัวใจนราธิวาสราชนครินทร์
คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ. หาดใหญ่)
เปิดรับสมัครการอบรมเรื่อง "การดูแลผู้ป่วย โรคหลอดเลือดหัวใจ"
(Coronary Heart Decease : Nursing Care)

Coronary Heart Decease : Nursing Care


กำหนดการอบรม : 26-27 พฤษภาคม 2554
สถานที่ : ห้องประชุมเกษม ลิ่มวงศ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ค่าลงทะเบียน : 2000 บาท
หมดเขตรับสมัคร : 10 พฤษภาคม 2554

Coronary Heart Decease : Nursing Care

คลิ๊กที่ภาพ เพื่อดาวน์โหลด PDF ใบสมัคร/รายละเอียดกำหนดการ (ลิงค์สำรอง)

วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

รับสมัครนักรังสีการแพทย์ (ปฏิบัติงานที่ศูนย์โรคหัวใจ)

นักรังสีการแพทย์

จำนวน 1 อัตรา
ปฏิบัติงานที่ศูนย์โรคหัวใจ นราธิวาสราชนครินทร์ หาดใหญ่

คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง
  • วุฒิการศึกษาปริญญาตรี หรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ ทางรังสีเทคนิค
  • มีความรู้ในวิชาการรังสีการแพทย์ อย่างเหมาะสมแก่การปฏิบัติงานในหน้าที่

ลักษณะงานที่ปฏิบัติและหน้าที่ความรับผิดชอบ

  • ปฏิบัติงานขั้นต้นเกี่ยวกับวิชาการรังสีการแพทย์ ภายใต้การกำกับตรวจสอบโดยใกล้ชิด และปฏิบัติหน้าที่อื่น ที่เกี่ยวกับงานวิชาการรังสีการแพทย์
  • จัดเตรียมผู้ป่วย ถ่ายและบันทึกภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยด้วยเครื่องรังสีเอ๊กซ์ ในกรณีที่ต้องการใช้เทคนิคหรือกรรมวิธีพิเศษที่ยุ่งยาก โดยการให้ผู้ป่วยรับประทาน ฉีด หรือสวนสารทึบแสงเข้าไปในร่างกายก่อนถ่ายและบันทึกภาพ
  • ปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เช่น จัดเตรียมเครื่องมือ ใช้อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทางด้านรังสีวินิจฉัย
  • เก็บรวมรวมข้อมูลจัดทำรายงานการปฏิบัติงานและสถิติผลงานด้านรังสี ตลอดจนแนะนำวิธีป้องกันอันตรายจากรังสี
  • ให้คำปรึกษาแนะนำ ในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการรังสีการแพทย์
  • ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย
กำหนดการคัดเลือก
  • ขยายเวลารับสมัครตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 สมัครได้ที่งานการเจ้าหน้าที่ ชั้น 4 อาคารบริหารฯ
  • ประกาศรายชื่อและรายละเอียดการสอบในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ชั้น 1 อาคาร บริหารฯ
ค่าตอบแทนและสวัสดิการ
  • อัตราค่าจ้างเดือนละ 10,320 บาท
  • เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม เมื่อปฏิบัติงานครบ 1 ปี หากเลือกสถานพยาบาลโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จะได้รับการยกเว้นการหักค่าจ้างในส่วนของผู้ประกันตน
  • มีสิทธิการลาตามระเบียบของคณะแพทย์ มอ.

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ Permanent Cardiac Pacemaker

เครื่องกระตุ้นหัวใจ


   หัวใจของเรา ทำงานบีบตัวได้เพราะมีกลุ่มเซลล์ที่สร้างกระแสไฟฟ้าเป็นจังหวะ 60 - 100 ครั้งต่อนาที และกระแสไฟฟ้าจะเดินทางไปตามเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดการบีบตัวเอาเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย หากเกิดความผิดปกติขึ้นที่กลุ่มเซลล์เหล่านี้ หรือมีความผิดปกติของการส่งกระแสไฟฟ้า หัวใจของเราก็จะเต้นผิดปกติ คือ อาจจะเร็วขึ้นหรือช้าลงได้ โดยเฉพาะคนที่อายุมากๆ หากมีอัตราการเต้นของหัวใจช้าลงเพียง 30 - 40 ครั้งต่อนาที หรือมีภาวะหัวใจ เต้นๆ หยุดๆ ซึ่งถ้าหยุดนานเกินกว่า 2.5 วินาที จะมีอาการวูบๆ หน้ามืด หรือ หมดสติได้ อาการเหล่านี้ จะตรวจพบได้ จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ จากการบันทึก คลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง นับเป็นความก้าวหน้าในวงการแพทย์อย่างยิ่ง ที่ในปัจจุบันนี้ สามารถคิดค้นวิธีการและเครื่องมือ สำหรับการรักษาความผิดปกติของหัวใจชนิดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงภาวะหัวใจเต้นช้าอย่างผิดปกติด้วย หากเกิดอาการดังกล่าว แพทย์จะแนะนำให้ท่าน ได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดถาวร หรือ "Permanent Cardiac Pacemaker"

เครื่องกระตุ้นหัวใจ


เครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นเครื่องมือขนาดเล็กๆ กว้างยาวประมาณ 4 - 5 เซนติเมตร หนาประมาณ 1/2 เซนติเมตร ภายในจะประกอบด้วย
  1. ส่วนรับรู้การเต้นของหัวใจ
  2. ส่วนส่งพลังงานไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจ เมื่อพบว่าหัวใจเต้นช้ากว่าความต้องการของร่างกาย
  3. ส่วนแบตเตอรี่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักให้พลังงานได้ 5 - 10 ปี แล้วแต่ปริมาณการใช้งาน (มีการกระตุ้นบ่อยครั้งหรือไม่)