วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุ Electrophysioloy Study : EP study

ECG
  การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุ (Electrophysioloy Study : EP study) เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแนวใหม่โดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สููง เข้าไปทำลายวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติภายในหัวใจ ซึ่งเชื่อว่า เป็นสาเหตุ ทำให้เกิดการเต้นผิดจังหวะของหัวใจได้ การรักษาโดยวิธีนี้ใชัหลักการเดียวกันกับการสวนหัวใจและกำลังเป็นที่นิยม ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีที่ได้ผลสูงและปลอดภัย ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้แล้วบางรายไม่ต้องรับประทานยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอีกเลยตลอดชีวิต

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจขาดเลือด

การขยายหลอดเลือดหัวใจ (การทำบอลลูน)
PTCA :Percutaneous transluminal coronary angioplasty

coronary balloon


ก่อนหน้านี้การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่ตีบแคบหรือโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี่ ซึ่งโดยทั่วไปพบว่ามักจะเกิดจากการอุดตันของไขมัน ซึ่งการรักษานั้นมีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่ค่อนข้างได้ผล นั่นคือ การผ่าตัดหัวใจ หรือการตัดต่อทำทางเดินของ หลอดเลือดใหม่ หรือ ที่เรามักจะได้ยินว่า การทำ CABG หรือการทำ "Bypass" นั่นเอง แต่ปัจจุบันวงการแพทย์ค้นพบวิธีการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งสามารถรักษาแก้ไขภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างได้ผล และช่วยชะลอ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีผ่าตัดอีกต่อไป วิธีนี้เรียกว่าการทำ PTCA หรือ "การขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ด้วยสายสวนพิเศษชนิดบอลลูน" แพทย์จะพยายามใส่สายสวนนี้เข้าไป ให้ถึงบริเวณหลอดเลือดที่ตีบแคบ (โดยมีลวดนำ ) จากนั้นจะขยายให้ ลูกโป่งนั้นพองออก ตรงตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบแคบพอดี แรงกด ของลูกโป่งจะดัน ผนังของหลอดเลือดที่ตีบแคบ ให้ขยายออก ทำให้เลือดที่มี ออกซิเจนไหลผ่าน หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น อาการเจ็บจุก หรือแน่น หน้าอกก็จะหายไป การรักษาด้วยวิธีนี้ จะกระทำภายในห้องปฏิบัติการตรวจสวนหัวใจที่มีเครื่องมือและอุุปกรณ์พิเศษโดยเฉพาะ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

coronary stent


ความสำเร็จในการขยายหลอดเลือดมากกว่าร้อยละ 90 หลังการรักษาท่าน จะได้รับคำแนะนำให้พักในโรงพยาบาลเพียง 1 - 2 วัน เท่านั้น ก็จะสามารถกลับบ้านได้ การขยายหลอดเลือด ด้วยบอลลูนนี้มีความเสี่ยง (ต่อการเสียชีวิต) บ้าง แต่อย่างไรก็ตามอัตราเสี่ยงน้อย กว่าร้อยละ 2 (น้อยกว่าการที่ไม่รักษา) ผลแทรกซ้อนที่พบบ่อย (ประมาณร้อยละ 5) คือ เลือดออก หรือ อันตรายต่อหลอดเลือดที่ขา (ตำแหน่งที่แทงเข็ม) ซึ่งสามารถแก้ไขได้

หากท่านได้รับคำแนะนำจากแพทย์ถึงการรักษาชนิดนี้ ท่านจะได้รับคำแนะนำการเตรียมตัวล่วงหน้าจากแพทย์ของท่านโดยละเอียด เช่น ท่านต้อง งดน้ำงดอาหาร อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ เป็นต้น สิ่งที่ท่านควรทราบอีกประการหนึ่ง คือ การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ว่าจะด้วยยา การขยายหลอดเลือด หรือ การผ่าตัด ไม่ได้ช่วยให้ท่าน "หายขาด" จากโรค เพียงแต่ช่วยลดอาการเจ็บแน่นหน้าอก ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ในบางรายช่วยลดอัตราตายในระยะยาวลง การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนนี้ มีโอกาสที่หลอดเลือดบริเวณที่ขยายไว้ จะตีบประมาณร้อยละ 30-40 ใน 6 เดือน พบว่าการขยายหลอดเลือดร่วมกับการใส่ "ขดลวด" หรือ Stent จะช่วยลด การกลับมาตีบซ้ำลงได้เหลือประมาณร้อยละ 15-20 และหากเป็น "ขดลวดเคลือบยา" การตีบซ้ำยิ่งพบน้อยลง แต่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดไปจนกว่าแพทย์จะให้หยุด

New procedure :EP Study

Electrophysiology study :EP study



หัตถการใหม่ที่จะเปิดให้บริการประมาณต้นปี 2554
ศูนย์โรคหัวใจ ได้เครื่องมือ สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สามารถให้การตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
ซึ่งเครื่องมือใหม่จะถูกส่งมาติดตั้ง สามารถใช้งานได้ประมาณปลายปีนี้

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ศูนย์ได้รับ ECG Machine เครื่องใหม่ เข้าระบบ HIS


ECG machine GE MAC 5500


  ขณะนี้ ศูนย์โรคหัวใจ นราธิวาสราชนครินทร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ได้รับเครื่อง run ECG 12 lead ประจำห้อง ECG เครื่องใหม่ จำนวน 4 เครื่อง และจะสามารถส่งข้อมูล ECG ที่ทำแล้วไปยังระบบฐานข้อมูลโรงพยาบาล HIS (Hospital Information System) ได้ทันที ส่วน ECG ที่ทำก่อนหน้านี้จะทยอยส่งเข้าระบบ HIS แต่จะช้าหน่อยเพราะ server เก่าไม่ค่อยดี

  ทั้งนี้ การนำข้อมูล ECG เข้าระบบ HIS จะทำให้แพทย์สามารถตรวจสอบ ดูข้อมูล ECG ของคนไข้ได้ทันทีผ่านระบบ โดยไม่ต้องรอ print ผล ECG และถือเอกสารข้อมูลไปมา

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประกาศรับสมัครพยาบาลประจำ ศูนย์โรคหัวใจ

ประกาศรับสมัครพยาบาลประจำ
ศูนย์โรคหัวใจ นราธิวาสราชนรินทร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่

หน่วยงาน : ศูนย์โรคหัวใจ
รายละเอียด : ชื่อตำแหน่ง พยาบาล (ปฏิบัติงานที่ศูนย์โรคหัวใจ)
อัตราที่รับ : จำนวน 2 อัตรา

คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง
  • วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางพยาบาลศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ (พยาบาลและผดุงครรภ์)
  • อายุไม่เกิน 35 ปี
  • สุขภาพแข็งแรงสามารถทำงานในห้องรังสี และทนต่อสภาวะของการใส่เสื้อตะกั่วกันรังสีได้
  • มีจิตใจมุ่งมั่นและรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน ซื่อสัตย์ ทำงานเป็นทีม
  • มีใจรักในงานและวิชาชีพ ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยมิตรไมตรีจิต
  • อุทิศงานและเวลาสามารถทำงานนอกเวลาได้เสมอ
  • ยอมรับการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย เช่น
    การร่วมทำวิจัย เก็บข้อมูล สอนงาน โครงการพัฒนางานต่าง ๆ ฯลฯ

ลักษณะงานที่ปฏิบัติและหน้าที่ความรับผิดชอบ
  • ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับพยาบาลภายใต้การปฏิบัติการของศูนย์โรคหัวใจฯ
  • ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

กำหนดการคัดเลือก
  • รับสมัครตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2553
  • สมัครได้ที่งานการเจ้าหน้าที่ ชั้น 4 อาคารบริหารฯ
  • ประกาศรายชื่อและรายละเอียดการสอบในวันที่ 23 ธันวาคม 2553 ณ ชั้น 1 อาคารบริหาร คณะแพทย์ศาสตร์

ค่าตอบแทนและสวัสดิการ
  • อัตราค่าจ้างเดือนละ 10,320 บาท
  • เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม เมื่อปฏิบัติงานครบ 1 ปี หากเลือกสถานพยาบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จะได้รับการยกเว้นการหักค่าจ้างในส่วนของผู้ประกันตน
  • มีสิทธิการลาระเบียบของคณะฯ

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การตรวจทางหัวใจ

การตรวจพื้นฐาน


การตรวจร่างกาย
เพื่อดูน้ำหนัก ส่วนสูง อ้วนหรือไม่ การจับชีพจร ความสม่ำเสมอ และอัตราของการเต้นของหัวใจ ความดัน โลหิต
ฟังเสียงหัวใจว่ามีเสียงผิดปกไหม เช่น เสียงสาม เสียงสี่ หรือ เสียงฟู่ นอกจากนั้นแล้วแพทย์จะตรวจร่างกายทุกระบบด้วย เพื่อดูว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ และ ดูโรคอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วย

12 lead ECG

คลื่นไฟฟ้าหัวใจ
คลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะบอกจังหวะการเต้นของหัวใจ บอกขนาดห้องหัวใจ (แต่ไม่ดีนัก)
บอกโรคของเยื่อหุ้มหัวใจบางชนิด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย
หลายคนคิดว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการ "เช็ค" หัวใจคล้ายเช็คเครื่อง
แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้น คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะผิดปกติก็ต่อเมื่อมีโรคหัวใจที่รุนแรง เช่น หัวใจขาดเลือดรุนแรง
กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้น ผิดจังหวะ เป็นต้น แต่ต้องเข้าใจว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ปกติ ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้เป็นโรคหัวใจ

เอกซเรย์ทรวงอก
หรือเรียกง่ายๆว่าเอกซเรย์ปอด ซึ่งจะเห็นทั้งปอด หลอดเลือดแดงใหญ่ การกระจายของเลือดในปอด ภาวะน้ำท่วมปอด หรือหัวใจล้มเหลว เงาของหัวใจซึ่งบอกขนาดหัวใจได้ดีพอควร

ตรวจเลือด
การตรวจหาระดับสารต่างๆในเลือด ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรง แต่เป็นการดูเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ
เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค และ การใช้ยาต่างๆ (เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนจากยา)

การตรวจพิเศษ - Non-Invasive Diagnostic


Echo
Echo (Echocardiogram) หรือ อัลตราซาวน์หัวใจ
ด้วยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจโดยหัวตรวจชนิดพิเศษ
เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูง ผ่านอวัยวะต่างๆจะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ซึ่งแตกต่างกันระหว่างน้ำ เนื่อเยื่อ
คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณเหล่านี้มาสร้างภาพ ดังนั้น ภาพที่เห็นก็คือหัวใจของผู้ป่วย
Echo จึงช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรค ตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษา
ในโรคหัวใจและ หลอดเลือดได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ
โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่เห็นหลอดเลือดหัวใจโดยตรง
และ อาจได้ภาพไม่ชัดเจนในผู้ป่วยที่อ้วนหรือผอมมาก หรือ มีถุงลมโป่งพอง เนื่องจากไขมันและอากาศขัดขวางคลื่นเสียงความถี่สูง

Exercise Stress Test การเดินสายพาน
หลักการ คือ ให้ผู้ป่วย(หรือผู้ที่ต้องการตรวจ) ออกกำลังกายโดยการเดินบนสายพานที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ (บางแห่งอาจให้ปั่นจักรยานแทน) เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นด้วย หากมีหลอดเลือดหัวใจตีบ เลือดจะไม่สามารถเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ จะเกิดอาการแน่นหน้าอก และมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เห็น การทดสอบนี้ยังช่วย บอกแพทย์ด้วยว่าผู้ป่วยเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติหรือไม่ และใช้ในการติดตามผู้ป่วยภายหลังได้รับการรักษา ไม่ว่าจะด้วยยาหรือ การขยายหลอดเลือด หรือ การผ่าตัด โดยการให้ผู้รับการทดสอบ เดินบนสายพานต่อขั้วและสายนำไฟฟ้าบริเวณหน้าอก 10 สาย เข้ากับเครื่อง Computer ในขณะที่เดินอยู่ เครื่อง Computer จะบันทึกและแสดงลักษณะของคลื่นนำไฟฟ้าภายในหัวใจ พร้อมทั้งความดันโลหิตตลอดเวลา ในขณะทดสอบ จะมีการเพิ่มความเร็ว และ ความชันของเครื่อง เป็นระยะๆตามโปรแกรม ที่จะเลือกให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ทดสอบโดยเฉพาะ เป็นรายๆไป เมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบ ผู้ทดสอบสามารถทราบผลการทดสอบจากแพทย์ ซึ่งจะเฝ้าสังเกตอาการอยู่ด้วยตลอดการทดสอบได้ทันที

Tilt Table Test
Tilt Table Test
เป็นการตรวจพิเศษที่ใช้ทดสอบในกลุ่มผู้ป่วย ที่มีอาการเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อหาทางแก้ไขหรือรักษาให้ถูกต้องต่อไป เนื่องจากอาการเป็นลมหมดสติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจจะมาจากปัญหาทางด้านสมอง หรือ หัวใจก็ได้ โดยคำจำกัดความของ " อาการเป็นลม , หมดสติ " คือการไม่รู้สติสัมปชัญญะอย่างเฉียบพลัน ( โดยทั่วไปมักน้อยกว่า 1 นาที )อันเป็นผลมาจากสมองเกิดภาวะขาดออกซิเจนโดยไม่มีความผิดปกติทาง ระบประสาทเฉพาะที่ เช่น โรคลมชัก เป็นต้น แม้ว่าภาวะการเป็นลม จะไม่ค่อยก่อให้เกิดอันตราย ถึงแก่ชีวิตแต่การเกิดซ้ำๆ ก็ก่อให้เกิดความกังวลใจและอาจทำให้เกิดบาดแผลต่อร่างกาย หรือเกิดอาการผิดปกติทางสมองได้
การทดสอบชนิดนี้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมบ่อยๆ หรือเป็นลมง่าย เช่น เห็นเลือดแล้วเป็นลม เปลี่ยนท่าแล้วเป็นลม หรือเสียใจ ดีใจมาก ก็เป็นลม การทดสอบชนิดนี้ทำได้ง่าย ไม่ต้องนอนพักต่อในโรงพยาบาล
การทดสอบจะกระทำในห้องที่มีเตียงพิเศษ สามารถปรับระดับองศาของเตียงได้
ผลการทดสอบ แพทย์จะวิเคราะห์จาก อัตราชีพจร ความดันโลหิต ลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ อาการของผู้ป่วยขณะที่ถูกเปลี่ยนระดับเตียง จากนอนราบเป็นประมาณ 70-80 องศา เป็นเวลาประมาณ 15-20 นาทีบางครั้งอาจ จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย

การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24-48 ช.ม.(Holter monitoring)
Holter
เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม. ไว้กับตัว โดยที่สามารถกลับไปพักที่บ้านหรือทำงานได้ตามปกติ
โดยไม่ต้องเสียเวลานอนพักค้างที่โรงพยาบาล และเมื่อครบกำหนด 24 หรือ 48 ชม.แล้ว จึงกลับมาถอดเครื่อง
และรอรับทราบผลการตรวจวิเคราะห์จากแพทย์ได้
การตรวจวิธีนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะมีปัญหาใจสั่นผิดปกติเป็นครั้งคราว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลมอยู่เสมอ
เวียนศีรษะ ใจเต้นแรงผิดปกติเป็นประจำ แต่บางครั้งขณะ มาพบแพทย์อาการดังกล่าวก็ไม่ปรากฎ
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ณ เวลาที่ไม่มีอาการ ( ECG ) ก็ปกติ ทำให้ไม่ทราบว่าอาการใจสั่นเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่

ข้อห้ามบางประการขณะติดเครื่องบันทึก
  • ห้ามอาบน้ำ ว่ายน้ำ หรือทำให้เครื่องและบริเวณที่ติดสายและขั้วต่อเปียก
  • ห้ามทำเครื่องตก ( เครื่องจะใส่กระเปําและเข็มขัดไว้ให้ท่านอย่างเรียบร้อย )
  • ห้ามออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวของแขนมาก


การตรวจพิเศษ - Invasive Diagnostic



การฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ(Coronary Angiography :CAG)
การตรวจสวนหัวใจหรือการฉีดสี หมายถึงการใช้สายสวนขนาดเล็ก ( โดยทั่วไป เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มม. )
ใส่เข้าไปตาม หลอดเลือดแดง อาจจะใส่จากบริเวณขาหนีบ ( ซึ่งนิยมมากที่สุด ) ข้อพับแขนหรือข้อมือ
ไปจนถึงจุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือด ที่ไปเลี้ยงหัวใจ ( หรือที่รู้จักกันว่าหลอด เลือดโคโรนารี่ ) ทั้งซ้ายและขวา
ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวมักจะอยู่ก่อนถึงหัวใจเล็กน้อย
จากนั้น แพทย์จะใช้สารละลายทึบรังสีเอ็กซเรย์ ( หรือ "สี" ) ฉีดเข้าทางสายสวนไปที่หลอดเลือดโคโรนารี่
เพื่อตรวจสอบดูว่า มีการตีบแคบ หรือตันของหลอดเลือดอันสำคัญนั้นหรือไม่ ถ้ามีการตีบแคบหรือตันการฉีดสี
ก็จะสามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจนอีก ว่าเป็นบริเวณใดของหลอดเลือด เป็นมากหรือน้อยประการใด
ทั้งนี้นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ อย่างแม่นยำ แล้ว ยังช่วย ในการตัดสินใจของผู้ป่วย
ญาติ และแพทย์ อีกด้วย ว่าควรจะแก้ไขหรือรักษาด้วยวิธีใด ให้เหมาะสม และเกิดประสิทธิผลแก่ผู้ป่วยอย่างสูงสุด
ปัจจุบันการตรวจสวนหัวใจทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ใช้เวลาพักอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 1 วัน
และขณะทำก็ไม่มี การใช้ยาสลบ แต่อย่างใดจะใช้ยาชา เฉพาะที่เท่านั้น
ขณะตรวจ ผู้ป่วยจะสามารถมองผ่านทางจอภาพได้ตลอดเวลา และเมื่อการตรวจเสร็จ เรียบร้อย ก็จะทราบผลการตรวจได้ทันที

ผลแทรกซ้อน จากการตรวจ
มีผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการสวนหัวใจ และฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจอยู่บ้าง ผลที่ไม่รุนแรง (น้อยกว่า 5%)
เช่น ผลต่อหลอดเลือดที่ขา(ตำแหน่งที่แทงเข็ม) เลือดออก แพ้"สี"แบบไม่รุนแรง เป็นต้น
หรือ ผลแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น อัมพาต แพ้"สี"รุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง เสียชีวิต
อย่างไรก็ตามผลแทรกซ้อนที่รุนแรงเหล่านี้พบน้อยมาก น้อยกว่า 1% ทำให้เมื่อชั่งน้ำหนัก
ระหว่างข้อดี กับ ข้อเสียแล้ว ผู้ป่วยจำนวนมากจะได้ประโยชน์จากการสวนหัวใจและฉีดสีดูหลอดเลือด

การตรวจระบบไฟฟ้าในหัวใจ (Electrophysiocardiography Study : EPS)
หัวใจประกอบไปด้วยส่วนสำคัญหลายส่วน เช่น หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เป็นต้น
แต่การที่หัวใจจะบีบตัว ได้ตามปกตินั้น จำเป็นต้องมีระบบการนำไฟฟ้าหัวใจที่ปกติด้วย
การที่หัวใจเต้นผิดปกติ เร็วหรือช้ากว่าปกติ ใจสั่น เต้นผิดจังหวะ ไม่สม่ำเสมอ หรือ หยุดเต้น
ล้วนแต่ เกิดจากความผิดปกติในการนำไฟฟ้าหัวใจทั้งสิ้น
บางครั้งการตรวจร่างกายตามปกติ รวมทั้ง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง
ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากพอ แพทย์โรคหัวใจ จะแนะนำให้ตรวจวิเคราะห์ระบบไฟฟ้าหัวใจโดยละเอียด

วิธีการตรวจ
แพทย์จะใส่สายสวนหัวใจขนาดเล็ก เข้าไปยังตำแหน่งต่างๆภายในหัวใจ ผ่านทางหลอดเลือดดำ
ซึ่งอยูที่ขาหนีบหรือที่ใต้ไหปลาร้า โดยอาจใช้สายสวนหลายสาย ร่วมกัน และใช้เครื่องเอกซ์เรย์
ในการเลือกตำแหน่งที่ถูกต้อง ที่ปลายของแต่ละสายจะมีความสามารถในการบันทึกไฟฟ้าที่เกิดขึ้นภายในหัวใจ
ทำให้ทราบ ว่ามีไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้นในหัวใจหรือไม่
และยังสามารถปล่อย กระแสไฟฟ้าจำนวนน้อยๆ ไปกระตุ้นให้เกิดการเต้นผิดจังหวะที่เป็นอยู่มาปรากฏต่อแพทย์ได้
หากพบว่ามีวงจรที่ผิดปกติ หรือ มีทางลัดเกิดขึ้นในหัวใจ แพทย์อาจใช้คลื่นวิทยุจี้ ทำลายวงจรที่ผิดปกติ
โดยผ่านทางสายดังกล่าวได้ ซึ่งนับเป็นการตรวจ วิเคราะห์และการรักษาการเต้นผิดจังหวะที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน

วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อาการโรคหัวใจ

อาการโรคหัวใจ


  อาการที่เกิดจากโรคหัวใจหรือสัมพันธ์กับหัวใจ มีไม่มากนัก แต่อาการดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเพราะโรคหัวใจเท่านั้น
ยังมีโรคอื่นๆที่ให้อาการคล้ายกัน ดังนั้น แม้ว่าจะมีอาการดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็อาจไม่ได้เป็นโรคหัวใจก็เป็นได้
ดังนั้นการที่ แพทย์จะพิจารณาให้การวินิจฉัยนั้น จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลประวัติ และอาการโดยละเอียด
ร่วมกับการตรวจร่างกายด้วย ซึ่งบางครั้ง อาจต้องอาศัยการตรวจพิเศษต่างๆ เช่น เลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ เป็นต้น
เพื่อแยกแยะโรคต่างๆ ที่มีอาการคล้ายกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเริ่มมีอาการใด ให้พยายามจดจำ หรือบันทึกอาการ
เพื่อที่จะได้ให้ข้อมูลกับแพทย์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

เจ็บหน้าอก


  อวัยวะที่อยู่ในทรวงอกนอกจากหัวใจแล้วยังมี เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด เยื่อหุ้มปอด หลอดอาหาร หลอดเลือดแดงใหญ่
กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครง เต้านม กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก เมื่อมีการอักเสบ หรือพยาธิสภาพของอวัยวะเหล่านี้
ก็ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ได้ทั้งสิ้น แต่ลักษณะอาการอาจแตกต่างกัน

อาการต่อไปนี้เข้าได้กับอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
  1. เจ็บแน่นๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก อาจจะเป็นด้านซ้าย หรือ ทั้งสองด้าน (มักจะไม่เป็นด้านขวาด้านเดียว) บางรายจะร้าวไป ที่แขนซ้าย หรือ ทั้งสองข้าง หรือ จุกแน่นที่คอ บางรายเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟัน
  2. อาการตามข้อ 1 เกิดขึ้นขณะออกกำลัง เช่น เดินเร็วๆ รีบ หรือ ขึ้นบันได วิ่ง โกรธโมโห อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดออกกำลัง
  3. ในบางรายที่อาการรุนแรง อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดขึ้นในขณะพัก เช่น นั่ง หรือ นอน หรือ หลังอาหาร
  4. กรณีที่เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการจะรุนแรงมาก อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก มาก เป็นลม (อาการเช่นนี้ยังพบได้ในโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ปริ ฉีก)

อาการต่อไปนี้ไม่เหมือนอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
  1. เจ็บแหลมๆคล้ายเข็มแทง เจ็บแปล๊บๆ เจ็บจุดเดียว กดเจ็บบริเวณหน้าอก
  2. อาการเจ็บเกิดขึ้นในขณะพัก มีอาการนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน
  3. อาการมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า หรือ ขยับตัว หรือ หายใจเข้าลึกๆ
  4. อาการเจ็บร้าวขึ้นศีรษะ ปลายมือ ปลายเท้า

อาการตามข้อ 1,2 และ 3 อาจเกิดจากกระดูก กล้ามเนื้อหน้าอก เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

หอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ


  อาการหอบ เหนื่อยง่าย เวลาออกแรง เช่น เดิน วิ่ง ทำงาน มีสาเหตุมากมาย เช่น โลหิตจาง(ซีด)
โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคปอด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure)
แม้แต่ความวิตกกังวล หรือ โรคแพนิค (panic) ก็ทำให้เหนื่อยได้เช่นกัน
อาการเหนื่อยง่ายจากโรคหัวใจ และ ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น จะเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว
โดยเป็นเวลาออกแรง แต่ในรายที่เป็นรุนแรง จะเหนื่อยในขณะพัก บางรายจะเหนื่อยมากจนนอนราบไม่ได้
(นอนแล้วจะเหนื่อย ไอ) ต้องนอนศีรษะสูงหรือ นั่งหลับ
  คำว่าเหนื่อย หอบ ในความหมายของแพทย์หมายถึง อัตราการหายใจมากกว่าปกติ
แต่ในความหมายของผู้ป่วยอาจรวมไปถึง อาการเหนื่อยเพลีย หมดแรง เหนื่อยใจ
อาการเหนื่อยแบบหมดแรง มือเท้าเย็นชา พูดก็เหนื่อย (โดยอัตราการหายใจปกติ)
เหล่านี้มักจะไม่ใช่อาการเหนื่อยจากโรคหัวใจ

ใจสั่น


  ใจสั่นในความหมายแพทย์หมายถึง การที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิดจังหวะ หรือ เต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นๆหยุดๆ
อาการดังกล่าวอาจพบ ได้ในคนปกติ โรคหัวใจ และโรคอื่นๆที่มีผลต่อหัวใจ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอด
แพทย์จะซักประวัติละเอียดถึงลักษณะของ อาการใจสั่น เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่
บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึก"ใจสั่น"โดยหัวใจเต้นปกติ
  การตรวจวินิจฉัยกลุ่มอาการใจสั่นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการชั่วขณะ
เมื่อมาพบแพทย์อาการดังกล่าว ก็หายไปแล้ว แพทย์จึงไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้
ดังนั้นท่านควรศึกษาวิธีจับชีพจรตัวเอง เมื่อเกิดอาการ ว่าหัวใจเต้นกี่ครั้งในเวลา 1 นาที และสม่ำเสมอหรือไม่
ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ให้การวินิจฉัยได้รวดเร็วขึ้น

ขาบวม


  อาการขาบวมเกิดจากการที่ร่างกายมีเกลือ(โซเดียม)และน้ำคั่งอยู่ในร่างกาย
โดยอาจเกิดจากโรคไต (ขับเกลือไม่ได้) โรคหลอด เลือดดำอุดตัน (การไหลเวียนไม่สะดวก) ขาดอาหาร
โปรตีนในเลือดต่ำ โรคตับ ยาและฮอร์โมนบางชนิด โรคหัวใจ หรือ ไม่พบสาเหตุ (idiopathic edema)
การบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจ เกิดจากการที่หัวใจด้านขวาทำงานลดลง
เลือดจากขาไม่สามารถไหลเทเข้าหัวใจด้านขวาได้โดยสะดวก จึงมีเลือดค้างอยู่ที่ขามากขึ้น
ซึ่งโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังก็ให้อาการเช่นนี้ได้เช่นกัน
ดังนั้นเมื่อมีอาการขาบวม แพทย์จำเป็นต้องตรวจหลายระบบ เพื่อหาสาเหตุ จึงให้การรักษาได้ถูกต้อง

เป็นลม วูบ


  คำว่า "วูบ" นี้เป็นปัญหาในการซักประวัติอย่างมาก เนื่องจากในภาษาไทยคำนี้มีความหมายต่างๆกัน
แต่ในความหมายของแพทย์แล้ว จะตรงกับภาษาอังกฤษว่า syncope หมายถึง การหมดสติ
หรือ เกือบหมดสติ ชั่วขณะ โดยอาจรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม ตาลาย มองไม่เห็นภาพชัดเจน
โดยอาการเป็นอยู่ชั่วขณะ ไม่รวมถึงอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน โคลงเครง วูบวาบตามตัว หายใจไม่ออก
อาการดังกล่าวอาจเกิดจาก ความผิดปกติของสมอง เช่น ลมชัก (แม้จะไม่ชักให้เห็น) เลือดออกในสมอง
ความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง หรือหยุดเต้นชั่วขณะ
หรือความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหัวใจ นอกจากนั้นแล้ว "วูบ"
ยังอาจพบได้ในคนปกติที่ขาดน้ำ เสียเลือด ท้องเสีย ไม่สบาย ขาดการออกกำลังกาย ยาลดความดันโลหิต