บุหรี่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจแน่หรือ ?
จากรายงานการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่าในกลุ่มผู้สูบบุหรี่จะมีโอกาสหรือความเสี่ยงต่อการเป็น
โรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 2.4 เท่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูบบุหรี่ทีเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือมีไขมันในเลือดสูง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดถึง 1.5 เท่า แต่หากผู้สูบบุหรี่นั้นเป็นทั้ง
ความดันโลหิตและ
ไขมันในเลือดสูงจะเสี่ยงต่อการเป็นเป็นโรคหัวใจถึง 8 เท่าของคนทั่วไป โดยเฉลี่ยแล้วผู้ติดบุหรี่จะมีเส้นเลือดเสื่อมและเกิดการตีบตันเร็วมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 10-15 ปี องค์กรอนามัยโลกได้ระบุว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 ของผู้เสียชีวิตจากโรค
เส้นเลือดหัวใจตีบเป็นผลจากการสูบบุหรี่
ในสตรีสูบบุหรี่ที่ได้รับยาคุมกำเนิด จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าสตรีทั่วไปถึงเกือบ 40 เท่า และยังเสี่ยงต่อการเกิดโรค
เส้นเลือดสมองตีบและโรคระบบหลอดเลือดสูงกว่าสตรีทั่วไปด้วย
นอกจากนี้ มีความเสี่ยงต่อการเกิด
ภาวะหัวใจวายจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มตามจำนวนบุหรี่ที่สูบ และในกลุ่มผู้ที่เกิดภาวะหัวใจวายจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนั้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) จะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และอีกร้อยละ 25 จะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล นั่นคือ หากเกิดภาวะหัวใจวายจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันขึ้นแล้ว โอกาสจะมีชีวิตรอดจะน้อยลง และมีปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตต่อไปด้วย
ผลจากการสูบบุหรี่ต่อการทำงานของหัวใจ
- นิโคติน เมื่อดูดซึมเข้ากระแสเลือด มีผลโดยตรงต่อต่อมหมวกไตก่อให้เกิดการหลั่งสาร อิพิเนฟริน (Epinephrine) และทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วขึ้น หลอดเลือดแดงหดตีบตัน เพิ่มไขมันในเลือด
ผลของนิโคตินทำให้เกิดการทำลายของเยื่อบุชั้นในของหลอดเลือดแดงซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- คาร์บอนมอนอกไซน์ การหายใจเอาคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปเป็นจำนวนมาก จะทำลายคุณสมบัติในการเป็นพาหนะนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย เป็นผลทำให้หัวใจต้องเต้นเร็วขึ้น ทำงานมากขึ้น เพื่อสูบฉีดโลหิตนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ
- ไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นก๊าซพิษในควันบุหรี่ ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง ประกอบกับสารพิษอื่นๆ ได้แก่ นิโคตินเป็นพิษต่อเซลล์เยื่อบุชั้นในของหลอดเลือด เมื่อกลไกนี้เกิดซ้ำอีก ร่วมกับการขาดออกซิเจนจากการไดรับก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ยิ่งจะทำลายเซลล์ชั้นในของหลอดเลือดได้มากขึ้นทำให้ไขมันที่มีอยู่ในเลือดไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้ง่าย นอกจากนี้ควันบุหรี่ยังทำให้เกร็ดเลือดเกาะกันมากขึ้น เกร็ดเลือดอายุสั้นลง เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น เลือดข้นขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้เลือดจับกันเป็นก้อนได้ง่าย เป็นสาเหตุทำให้เส้นเลือดแดงที่มีไขมันเกาะอยู่ชั้นในของหลอดเลือด หรือหลอดเลือดแดงที่ตีบอยู่แล้ว เกิดการอุดตันไดในทันทีทันใด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจเสียชีวิตทันทีทันใดได้
การสูบบุหรี่กับโรคหัวใจ และหลอดเลือด
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนที่สูบบุหรี่ตายจากโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบเกือบ 3 เท่า และการสูบบุหรี่นั้น มีความสัมพันธ์กับจำนวนที่สูบ ยิ่งสูบมากเกินวันละ 1 ซอง ก็ยิ่งทำให้อัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้น ในประเทศเรา ได้มีการศึกษาประชากรที่เกิดโรคหัวใจขาดเลือดพบปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค เรียงตามลำดับคือ
- การสูบบุหรี่มากกว่า 10 มวนขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูบเกิน 20 มวนต่อวันขึ้นไป จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงมากยิ่งขึ้น
- เบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- ความอ้วน
- ไขมันในเลือด
- ความเครียด
- การไม่ออกกำลังกาย
สรุปข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า
บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ถ้าสูบบุหรี่ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น เป็นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวานด้วยแล้วยิ่งทำให้อัตราการเกิดโรคนั้นสูงขึ้นมากขึ้นตามลำดับ การหยุดสูบบุหรี่ ทำให้ลดการตายจากหัวใจขาดเลือดในผู้ที่สูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวนต่อวัน ถ้าหยุดสูบได้พบว่า 10 ปี หลังจากหยุดสูบบุหรี่ จะมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจใกล้เคียงกับคนที่ไม่สูบ ในผู้ป่วยที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายจากโรคหัวใจขาดเลือด แล้วหยุดสูบพบว่า จะลดการตายจากการเกิดเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำ หรือลดการตายทันทีนั้นลงไปร้อยละ 20 ถึง 50
การหยุดสูบบุหรี่จึงเป็นการรักษาที่จำเป็นในโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคปอดเรื้อรัง และโรคถุงลมโป่งพอง ตลอดจนโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ท่านทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันนี้โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของประเทศรองจากอุบัติเหตุ ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่สังคมจะต้องหันมาสนใจ และใช้ความพยายามร่วมกันเพื่อรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ทั้งภาครัฐ และเอกชนอย่างจริงจัง
ที่มา: สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข